กฎหมาย ความรู้ทัวไป 2







ไถ่ถอนขายฝาก
การขายฝาก เป็นสัญญาซื้อขายประเภทหนึ่งซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่า ผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ จึงถือเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ต้องการเงินมาใช้จ่ายในยามขัดสน โดยนำที่ดินไปจดทะเบียนขายฝากแก่เจ้าหนี้ และมีกำหนดเวลาจ่ายคืนหนี้ตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่เวลาซื้อขาย อันเป็นระยะเวลาสูงสุดที่ก.ม.ยอมให้มีการขายฝากกันได้ ถ้าลูกหนี้นำเงินสินไถ่มาจ่ายคืนภายในกำหนด จักได้รับโอนที่ดินคืนกลับไปทันที หากพ้นกำหนดเวลาแม้เพียงวันเดียว ที่ดินซึ่งขายฝากไว้จักกลายเป็นของเจ้าหนี้ไปเลย หลายคนอาจพบปัญหากับเจ้าหนี้ซึ่งพยายามถ่วงเวลาหรือหลบเลี่ยงไม่ยอมจดทะเบียนคืนกรรมสิทธิ์ในโฉนดแก่ลูกหนี้ ทั้งที่ได้รับเงินสินไถ่ครบถ้วนภายในระยะเวลาตามสัญญา จนกระทั่งต้องฟ้องศาลเป็นเรื่องราวใหญ่โตปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้มีการต่อสู้คดีในศาลมาแล้ว กฎหมายย่อมคุ้มครองคนสุจริตเสมอ ดัง คำพิพากษาฎีกาที่ 1370/2544 นาย ก. ได้จ่ายสินไถ่ค่าที่ดินภายในกำหนดสัญญาขายฝากระหว่างนาย ก. กับ นาย ข. เมื่อธันวาคม 2527 โดยเจ้าหนี้ยอมคืนโฉนดพร้อมสัญญาขายฝาก โดยสัญญาว่าจะไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อ และระบุการไถ่คืนในภายหลัง นาย ข. ได้ถ่วงเวลาตลอดมา ต่อมามีนาคม 2539 นาย ก.ถึงแก่ความตาย ทายาทของนาย ก. จึงร่วมกันฟ้องให้นาย ข.ไปจดทะเบียนไถ่ถอน ด้วยความละโมบและไม่สุจริตใจเขาจึงปฏิเสธโดยอ้างว่า เขามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพราะไม่มีการจดทะเบียนไถ่ถอนเกิน 10 ปีนับแต่วันครบกำหนดไถ่ที่ดินแล้ว ในที่สุดศาลได้มีคำพิพากษาว่า เมื่อมีการจ่ายหนี้ขายฝากภายในกำหนดตามสัญญาแล้ว แม้มิได้จดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ถือเป็นเพียงทำให้การกลับคืนมาซึ่งทรัพยสิทธิ์ยังไม่บริบูรณ์เท่านั้น จึงใช้ยันกันได้ระหว่างคู่สัญญา คือ นายก. และ นาย ข. ทายาทของนาย ก.ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนาย ก.เท่ากับรับสืบทอดสิทธิที่นาย ก.มีอยู่ จึงมีผลใช้ยันกันได้ระหว่างนาย ข. และทายาทของนาย ก. ดังนั้นทายาทของนาย ก. ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนและฟ้องร้องขอให้เจ้าหนี้จดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินของนาย ก.เมื่อใดก็ได้ โดยอาศัยอำนาจของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 อันว่าด้วยสิทธิติดตามและเอาคืนทรัพย์สินของตนจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือได้ โดยไม่มีกำหนดอายุความทวงกรรมสิทธิ์ไว้ คดีนี้จึงไม่ขาดอายุความตามที่นาย ข.กล่าวอ้างแต่อย่างใดกรณีศึกษานี้เป็นตัวอย่างเตือนใจได้ว่า อย่าละเลยในการทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะจักนำพาความเดือดร้อนมาสู่ตนและครอบครัวในภายหน้า อีกทั้งเป็นการเปิดช่องว่างให้คนมีจิตใจทุจริตได้โอกาสยึดครองทรัพย์สินของท่านอย่างไม่ยุติธรรม บางครั้งท่านอาจไม่โชคดีเหมือนทายาทของนาย ก. ตามฎีกาข้างต้นก็ได้ หลายท่านต้องพบกับสภาพสูญเสียที่ดินไป ทั้งที่จ่ายคืนหนี้ครบถ้วน เพราะความรู้ไม่เท่าทัน ความใจอ่อน หรือ ขาดความรอบคอบมาแล้ว ท่านจึงพึงระวังเมื่อจำเป็นต้องเป็นลูกหนี้ ยามใช้คืนหนี้ทุกกรณี ต้องมีหลักฐานการชำระหนี้ที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าหนี้และจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากหรือการจำนองตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อคุ้มครองลูกหนี้ไว้ด้วยข้อคิดก่อนสาดน้ำ
เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นวันสำคัญของประเทศไทยซึ่งเน้นการรดน้ำหรือสาดน้ำใส่กันเพื่อความสนุกสนาน พิธีการดั้งเดิมนั้นจักเป็นการรดน้ำขอขมากับผู้อาวุโส หรือรดน้ำแก่เพื่อนฝูงเพื่อความสนุก ลักษณะของการรดน้ำที่ถูกต้องตามประเพณีไทย ต้องเป็นการเทน้ำลงบนมือหรือไหล่ด้วยกิริยานุ่มนวลและมีการขออนุญาตก่อนเสมอ ซึ่งมักไม่มีปัญหาทะเลาะวิวาทกันจากพิธีรดน้ำแบบนี้ วันเวลาที่ผ่านไปการรดน้ำเปลี่ยนสภาพสู่การสาดน้ำด้วยวัสดุดัดแปลงต่างๆ เช่น ท่อเหล็กหรือพีวีซีหรือน้ำแข็ง เป็นต้น ซึ่งอาจก่อความเสียหายแก่ผู้ถูกกระทำมากขึ้นจนต้องกลายเป็นคนพิการไปได้กรณีสาดหรือฉีดน้ำด้วยกระบอกชนิดต่างๆหรือใช้น้ำแข็งการเล่นน้ำด้วยอุปกรณ์ชนิดนี้ จักมีความแรงของน้ำแตกต่างกันตามขนาดของท่อ หากผู้เล่นฉีดน้ำไปที่อวัยวะต่างๆของร่างกาย แล้วเกิดบาดเจ็บขึ้นมา หรือขว้างถุงใส่น้ำแข็ง ท่านอาจต้องรับโทษจำคุกหรือปรับได้ตามลักษณะของบาดแผลที่เกิดขึ้น ดังต่อไปนี้- ถ้าไม่เกิดบาดแผล เพียงเปียกน้ำ หรือ เปรอะเปื้อน เช่น การโปะแป้ง หรือ โดนสาดน้ำ ขณะไปทำธุระ หรือ ตอนอยู่ในรถโดยสาร เป็นต้น ผู้กระทำอาจต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 กำหนดว่า ผู้ใดในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัล ทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อเตือนใจ คือ หากมีผู้เสียหายหลายคน ท่านต้องรับโทษเป็นรายคน เช่น สาดน้ำไปยังผู้เสียหาย 8 คน และตำรวจสั่งปรับการกระทำผิดกระทงละ 1000 บาท ท่านต้องจ่ายค่าปรับ 8000 บาท นับว่าเป็นค่าสาดน้ำราคาแพงมากทีเดียว- บาดแผลประเภทรอยช้ำ ขีดข่วน รอยถลอก ผู้สาดน้ำอาจต้องรับโทษอาญา ตามมาตรา 390 กำหนดว่า ผู้ใดกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนใหญ่บาดแผลประเภท คิ้วหรือปากแตก ผิวหนังฉีกขาด ดวงตาบวม ซึ่งต้องใช้เวลารักษาไม่เกิน 20 วัน อันเกิดจากน้ำแข็งหรือท่อน้ำ กฎหมายสันนิษฐานเบื้องต้นว่า ผู้กระทำย่อมมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่า วัสดุเหล่านั้นทำร้ายผู้อื่นให้บาดเจ็บได้ ท่านจึงอาจต้องรับโทษอาญาของมาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ได้เช่นกัน เนื่องด้วยทางราชการเผยแพร่ข้อมูลวัสดุในการเล่นน้ำประเภทต่างๆอย่างกว้างขวาง จึงไม่อาจโต้แย้งว่า ไม่ทราบโทษของมัน ทำให้พ้นโทษอาญาค่อนข้างยากมาก- บาดแผลสาหัส เช่น ตาบอด หูหนวก แท้งลูก หน้าเสียโฉม เป็นต้น หรือ ต้องรักษาด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน ผู้สาดน้ำจักได้รับโทษหนักขึ้น ตามมาตรา 300 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากถูกพิจารณาว่า ผู้สาดน้ำมีเจตนาเล็งเห็นผลในการสร้างบาดแผลสาหัสนั้น อาจต้องรับโทษตามมาตรา 297 ผู้ใดกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องมีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี กรณีสาดน้ำปนเปื้อนของสกปรกการนำของโสโครก เช่น น้ำขยะ ปัสสาวะ อุจจาระ เป็นต้น ผสมในน้ำ ผู้กระทำต้องรับโทษอาญาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 389 คือ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆให้ของโสโครกเปรอะเปื้อนหรือน่าจะเปรอะเปื้อนตัวบุคคล หรือ ทรัพย์ หรือ แกล้งทำให้ของโสโครกเป็นที่เดือดร้อนรำคาญ ต้องมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากการขว้างปาของเบื้องต้นทำให้อีกฝ่ายได้รับบาดเจ็บทางกาย จักเพิ่มความผิดฐานประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บในมาตรา 390 เข้าไปอีก หรือผู้เสียหายได้รับเชื้อโรคร้ายแล้วตาย ท่านอาจมีโทษฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาได้การตั้งข้อกล่าวหาแก่ผู้กระทำผิดในแต่ละคดีนั้น ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง อายุและการบาดเจ็บของผู้เสียหาย โดยคดีอาจสิ้นสุดลงแค่ชั้นตำรวจหรือศาลแล้วแต่ลักษณะคดี ดังนั้น การเล่นน้ำจักสร้างความสุขและสนุกสนานเย็นฉ่ำในเทศกาลอันรื่นรมย์นี้ได้ หากท่านมีสติในการเล่นควบคู่กัน เมื่อขณะใดที่ปล่อยจิตใจให้คึกคะนองเกินขอบเขตอันควร ความทุกข์จักยืนอยู่เคียงข้างทันที จึงขอให้ระลึกถึงความเดือดร้อนของผู้เสียหาย และโทษทัณฑ์ที่ท่านต้องรับจากการกระทำซึ่งมีทั้งโทษอาญาและโทษทางแพ่งในการสูญเสียเงินทองเพื่อชดใช้ความ
เสียหายซึ่งได้ก่อขึ้น เมื่อคิดได้เช่นนี้ก่อนการสาดน้ำออกไป ท่านจะมองเห็นว่า ต้องเล่นน้ำอย่างไรให้ปลอดภัยและมีความสนุก







สนานด้วยรูปแบบการร้องทุกข์
เขียนโดย ลีลา LAWหลายท่านอาจไม่ทราบมาก่อนว่า การแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจหรือโรงพักนั้นมีสองแบบ คือ การร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดี กับ เพื่อเป็นหลักฐาน เนื่องจากคดีอาญาบางคดีเป็นความผิดที่ยอมความได้ ผู้เสียหายจะต้องมีการร้องทุกข์ก่อน กรณีนี้จึงต้องเลือกรูปแบบเพื่อดำเนินคดีเท่านั้นผลของการร้องทุกข์ผิดรูปแบบ จักมีผลต่อทุกขั้นตอนในการดำเนินคดี ดังปรากฏใน คำพิพากษาฎีกาที่ 4906/2543 ความผิดฐานข่มขืนหญิงอื่นซึ่งมิใช่ภรรยาของตน เป็นความผิดอันยอมความได้ พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรค 2 กำหนดว่า ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ จากรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานประกอบกับคำเบิกความของพนักงานสอบสวนว่า ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ไว้ก่อนเพื่อเป็นหลักฐานเท่านั้น มิได้มอบคดีให้ลงโทษ แม้จะเป็นการรับแจ้งความ จึงไม่ถือว่าเป็นคำร้องทุกข์โดยถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะยังมิได้กระทำโดยเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ การสอบสวนความผิดดังกล่าวที่ผ่านมาจึงไม่ชอบ อัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนหากท่านต้องการให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดหรือก่อความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ต้องเลือกแจ้งความร้องทุกข์เพื่อการดำเนินคดีถึงที่สุด จึงลงโทษผู้กระทำความผิดอาญาได้ตามกระบวนการยุติธรรม ส่วนการร้องทุกข์เพื่อเป็นหลักฐาน มักใช้เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดกับตนเองในอนาคต เช่น กรณีการสูญหายของบัตรเครดิต บัตรสำคัญอื่นๆ หรือ หนังสือเดินทาง เพื่อไม่ต้องรับผิดชอบกับหนี้สินจากบัตรดังกล่าว เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเกิดความผิดอาญาและผู้เสียหายต้องการแจ้งความ จึงต้องเลือกรูปแบบการร้องทุกข์และแจ้งให้ตำรวจรับทราบโดยชัดแจ้ง มิฉะนั้น ผู้กระทำความผิดอาจหลุดรอดพ้นคดีลอยนวลไปอย่างง่ายดายด้วย
สาเหตุร้องทุกข์ผิดแบบเท่านั้น
การเรียกค่าเสียหายจากชู้หรือหญิงนอกสมรส

หญิงชายซึ่งมีความพร้อมด้านความรู้และฐานะ ย่อมอยากสร้างครอบครัวของตนอันเป็นธรรมดาของมนุษย์ หลายท่านประสบความสำเร็จกับครอบครัวที่มีความสุข แต่มีบางท่านอาจต้องพบกับความรักที่จืดจางหรือไขว้เขวไป ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากสามีหรือภรรยา และแม้แต่มือที่สามที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจในการก่อความแตกแยกขึ้น ครอบครัวแตกแยกสร้างความทุกข์แก่ผู้ที่ต้องประสบปัญหาเช่นนี้เสมอ ผู้บัญญัติกฎหมายตระหนักในปัญหานี้ ด้วยหวังปรามผู้คิดจะสร้างปัญหาความแตกแยกไว้ และชดเชยความเสียหายแก่ผู้ได้รับความทุกข์ จึงกำหนดให้มีการเรียกค่าทดแทนจากชายชู้หรือหญิงนอกสมรสได้สังคมมีจารีตประเพณีกำหนดขอบเขตความประพฤติไว้ บ้านเมืองมีกฎหมายเพื่อควบคุมให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น หากมีผู้ใดละเมิด จะต้องถูกลงโทษและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย เมื่อกฎหมายต้องการส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว จึงกำหนดโทษแก่ผู้ที่ก่อความแตกแยกไว้ดังกล่าวไว้ใน คำพิพากษาฎีกาที่ 2940/2538 นางศนิ ภรรยาของ นายการเวก พบว่า สามีเลี้ยงดู น.ส.น้อย ครูสาวในโรงเรียนแห่งหนึ่งเป็นภรรยาอีกคน โดยจ่ายเงินรายเดือน ซื้อบ้านหนึ่งหลัง มีพฤติกรรมหลายอย่างให้คนเข้าใจว่าทั้งสองมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวต่อกัน หลังจากทราบเรื่องผู้เป็นภรรยาได้พูดคุยกับสามีและเจรจาขอร้องน.ส.น้อยให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าว แต่ทั้งสองปฏิเสธที่จะเลิกกัน ด้วยความคับแค้นใจ นางศนิ จึงฟ้องคดีเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.น้อย ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติในมาตรา 1523 วรรค 2 ให้อำนาจไว้ แต่ทนายของน.ส.น้อยแย้งว่า เมื่อยังไม่มีการหย่ากันระหว่างนางศนิกับนายการเวก โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าเสียหายได้ ในที่สุดศาลฎีกาได้พิพากษาคดีไว้ว่า มาตรา 1523 วรรค 2 ซึ่งกำหนดว่า สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภรรยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้ เป็นมาตราที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้อง สำหรับคดีนี้เป็นการเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว แต่มาตราและวรรคดังกล่าวนั้นมิได้กำหนดเงื่อนไขว่า ภริยาต้องฟ้องหย่าสามีก่อน จึงใช้สิทธิเรียกร้องได้ ดังนั้น นางศนิ จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.น้อย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสามีของโจทก์ได้กรณีศึกษาข้างต้นคงเป็นสิ่งเตือนใจแก่ชายหรือหญิงซึ่งคิดจะเป็นชู้ได้อย่างดีว่า ต้องเตรียมจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้เป็นสามีหรือภรรยาตามกฎหมายด้วย นอกจากเสียเงิน ยังต้องอับอาย เสียชื่อเสียงในสังคม เมื่อพฤติกรรมของตนถูกตีแผ่ให้หลายท่านรับรู้ เพราะการพิจารณาในศาลกฎหมายบัญญัติให้ต้องทำอย่างเปิดเผย ส่วนสามีหรือภรรยาซึ่งต้องพบกับปัญหาข้างต้น จักทราบถึงสิทธิที่กฎหมายมอบไว้และอาจนำมาใช้กำราบบรรดาชายชู้หรือหญิงนอกสมรสซึ่งคิดจะทำลายครอบครัวของท่าน โดยต้องจ่ายค่าทดแทนการล่วงละเมิดสิทธิของท่านตามกฎหมายเป็นเงินจำนวนหนึ่งต่อความสัมพันธ์ที่ผิดกฎหมายของพวกเขา แต่สิ่งที่พึงตระหนักในใจเสมอคือ ความซื่อสัตย์และการรู้จักประนีประนอมจักช่วยประคับประคองครอบครัวไว้ได้ หากสามีและภรรยารักษาทั้งสองสิ่งนี้ได้อย่างมั่นคง ย่อมเป็นครอบครัวที่มีความ
สุขอย่างน่าอิจฉาทีเดียว
ดอกเบี้ยต้องห้าม
เขียนโดย ลีลา LAWหลายท่านอาจเคยมีประสบการเรื่องขัดสนทางการเงินจนกระทั่งต้องพึ่งพาเจ้าหนี้มาแล้ว จักทราบได้ว่าเจ้าหนี้มีหลายรูปแบบทั้งบุคคลธรรมดาหรือสถาบันการเงินต่างๆ เจ้าหนี้แต่ละแบบจะมีกฎหมายดูแลและวางกรอบควบคุมไว้ต่างฉบับกัน ดังนั้น จึงสังเกตเห็นว่า สถาบันการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นกฎเกณฑ์ใช้บังคับเจ้าหนี้บุคคลธรรมดาได้ นั่นเกิดจากใช้กฎหมายคนละฉบับ ครั้งนี้จักกล่าวถึงโทษของเจ้าหนี้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มิใช่สถาบันการเงินซึ่งเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปีและสภาพของดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จ่ายเกินไปว่า จะฟ้องเรียกคืนได้ไหมพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 5 บัญญัติว่า บุคคลใดให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ มีความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กฎหมายฉบับนี้ใช้ควบคุมการกู้ยืมระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มิใช่สถาบันการเงิน ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่ชอบด้วยกฎหมายในปัจจุบันนี้ คือ ร้อยละ 15 ต่อปี หากเจ้าหนี้คนใดเรียกเกินอัตราดังกล่าว จะทำให้ดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นโมฆะ ไม่อาจเรียกได้ แต่มิได้ทำให้หนี้เงินกู้ระงับไปด้วยแม้สังคมจะมีการใช้กฎหมายกำหนดห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรานานเพียงใด ก็ยังมีเจ้าหนี้หลายคนทำเลี่ยงเสมอ บางครั้งลูกหนี้จำใจต้องรับข้อเสนอดอกเบี้ยสูงเกินอัตราด้วยความจำเป็นส่วนตัว จนกระทั่งมีข้อพิพาทถึงศาลหลังจากทนบีบคั้นหนักในการทวงหนี้ไม่ได้ โดยมีคำพิพากษาฎีกาซึ่งมาจากกรณีพิพาทของเจ้าหนี้และลูกหนี้เป็นอุทาหรณ์สอนใจก่อนก่อหนี้และโทษของการเรียกดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง ดังตัวอย่างคำตัดสินของศาลที่นำมาเสนออันได้แก่คำพิพากาฎีกาที่ 1452/2511 โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้ 14000 บาท จำเลยรับว่ากู้จริงเพียง 10000 บาท และชำระแล้ว ส่วนเงิน 4000 บาท เป็นดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือนรวม 8 เดือนมารวมเป็นเงินต้นที่กู้ยืม ถือเป็นคำให้การต่อสู้ว่า หนี้ตามสัญญาจำนวน 4000 บาท ไม่สมบูรณ์ จำเลยมีสิทธินำสืบพยานบุคคลพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ เมื่อเป็นดอกเบี้ยเกินอัตรา จึงตกเป็นโมฆะทั้งหมด จำเลยชำระต้นเงินแท้จริงแล้ว หนี้จึงระงับสิ้นไปคำพิพากษาฎีกาที่ 4690/2540 จำเลยรู้และยินยอมให้โจทก์ที่เป็นเจ้าหนี้คำนวณดอกเบี้ยเกินอัตรารวมกับต้นเงิน ถือเป็นนิติกรรมมุ่งผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลย สัญญากู้และจำนองมีผลบังคับใช้ได้ หาเป็นโมฆะทั้งฉบับไม่ เฉพาะดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและนำไปคำนวณเป็นเงินต้น ถือเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์อันเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะคำพิพากษาฎีกาที่ 3864/2524 จำเลยชำระดอกเบี้ยเงินกู้เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจของลูกหนี้ จะเรียกคืนหรือนำไปหักจากต้นเงินไม่ได้ ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่หลักกฎหมายและคำตัดสินดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อพิพาทระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งน่าจะทำให้เห็นผลของการละเมิดกฎหมายชัดเจนขึ้น ขอให้ระลึกด้วยว่า เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกคืนหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมายและอัตราดอกเบี้ยอันเป็นผลประโยชน์ที่กฎหมายยอมให้เรียกได้ จึงควรปฏิบัติอยู่ในกรอบของกฎหมายเพื่อรับการคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรม แม้แต่การทวงหนี้ก็ต้องไม่ละเมิดกฎหมายด้วย เช่น การข่มขู่หรือทำร้าย เป็นต้น มันอาจทำให้เจ้าหนี้ต้องรับโทษอาญา ย่อมไม่คุ้มค่ากันหากเทียบระหว่างหนี้เงินกับอิสรภาพส่วนตัวของเจ้าหนี้แน่ ส่วนลูกหนี้ต้องสำนึกด้วยว่า ยามเดือดร้อนขัดสนเงินทอง จึงไปพึ่งพาเจ้าหนี้ ดังนั้น ไม่ควรคิดหลบหนีหรือโกงเจ้าหนี้เลย แต่ต้องรู้จักสิทธิของตนที่จะไม่ถูกเจ้าหนี้เอาเปรียบเกินเหตุหรือยอมให้อีกฝ่ายทำละเมิดกฎหมายตามใจชอบ ทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามหลักการของกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะศาลจะคุ้มครองลูกหนี้และเจ้าหนี้ที่สุจริตเท่านั้น ขอให้พึงตระหนักในใจด้วยว่า สังคมจักสงบสุขได้ หากทุกคนปฏิบัติตนภายใต้กรอบของกฎหมายและมีความสุจริตใจต่อกันเป็นพื้นฐานเช่าที่ดิน แต่ดินหาย
เขียนโดย ลีลา LAWทุกคนขยันทำงานเพื่อแสวงหาเงิน และฝันว่า ในชีวิตนี้ต้องมีบ้านหรือที่ดินสักผืนหนึ่งเป็นสมบัติของตนเอง บางคนได้รับผลตอบแทนความขยันหมั่นเพียรด้วยการมีบ้านและที่ดินอีกหลายแปลง เมื่อเริ่มมีที่ดินมาก จึงไม่อยากปล่อยให้ว่างเปล่า คิดใช้สิ่งนี้สร้างรายได้แก่ตัวเอง จึงนำไปให้คนอื่นเช่าใช้ประโยชน์ได้ค่าเช่าเป็นรายเดือนหรือรายปี และอาจประสบปัญหากับผู้เช่าบางรายที่มิสร้างคุณประโยชน์แก่ที่ดินซึ่งเช่ามา นอกจากการขุดหน้าดินไปขายต่อที่อื่น ทำให้ที่ดินเป็นหลุมบ่อมากมาย มันจึงกลายเป็นปัญหากลุ้มใจแก่ผู้ให้เช่าอย่างคาดไม่ถึงยังมีเจ้าของที่ดินอีกมากซึ่งเคยประสบปัญหาผู้เช่าเจ้าเล่ห์เช่นนี้มาแล้ว จนกระทั่งเป็นคดีบนศาล ดังกรณีศึกษานี้คือ นายรอง เป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมาก จึงแบ่งให้เช่าไปหลายแปลง จนกระทั่งมี นายแล่ง มาขอเช่าที่ดินแปลงใหญ่ย่านบางบัวทอง อ้างว่าจะใช้สร้างโกดังเก็บสินค้าและยอมจ่ายค่าเช่าราคาดี นายรองจึงยอมให้เช่าด้วยความดีใจยิ่ง หลายเดือนต่อมาผู้ให้เช่าจึงไปดูที่ดินแปลงดังกล่าว ปรากฏว่า ที่ดินมีหลุมลึกมากหลาย และ มีรถตักดินอีกหลายคันอยู่บนที่ดินของเขา ทำให้เขาตกใจมาก จึงขอให้หยุดการตักหน้าดินนี้ทันที ผู้เช่าโต้แย้งว่า เขามีสัญญาเช่าใช้ที่ดินอย่างถูกต้อง ผู้ให้เช่าไม่มีสิทธิ์มายุ่งกับที่ดินตลอดเวลาเช่าเด็ดขาด ด้วยเกรงว่าจะเกิดความเสียหายแก่ที่ดินของเขา นายรองจึงนำคดีขึ้นสู่ศาลเป็นคดีอาญาฐานลักทรัพย์ ผลของการตัดสินคดีเป็นไปอย่างเดียวกับที่ปรากฎใน คำพิพากษาฎีกาที่ 5423/2541 คือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 139 ได้ให้คำนิยาม “อสังหาริมทรัพย์ ว่า หมายถึง ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร หรือ ประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น..........” เมื่อเป็นผู้เช่าตามสัญญาเช่าที่ดิน ทำให้จำเลย (ผู้เช่า) เป็นผู้ครอบครองที่ดินในสภาพอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น เมื่อที่ดินถูกขุดเนื้อดินออกมา ดินที่ได้ย่อมเปลี่ยนสภาพเป็น สังหาริมทรัพย์ ถือมิได้ว่า เป็นทรัพย์สินที่เช่าอีกต่อไป เจ้าของที่ดินไม่ได้มอบการครอบครองที่ดินในลักษณะเป็นสังหาริมทรัพย์ให้จำเลยครอบครอง ดินดังกล่าวยังอยู่ในความครอบครองของเจ้าของที่ดิน การที่จำเลยเอาดินไปขายอันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความมิได้ แม้ว่าต่อมาเจ้าของที่ดินอาจยอมตกลงอะไรกับจำเลย (ผู้เช่า)ในภายหลังที่จำเลยกระทำผิดแล้ว ไม่ทำให้ความผิดลักทรัพย์ระงับสิ้นไปได้ ดังนั้น คดีของนายแล่ง ผู้เช่าจอมแสบ จึงมีสิทธิ์ติดคุกในคดีอาญาฐานลักทรัพย์ได้แน่นอนกรณีศึกษาดังกล่าวข้างต้น ถือเป็นบทเรียนเตือนใจแก่ผู้ให้เช่าที่ดินว่า แม้ให้เช่าไปแล้วก็ควรเอาใจใส่ คอยตรวจสอบผู้เช่าว่า ได้ใช้ที่ดินไปตามวัตถุประสงค์ที่เช่าหรือไม่ ผิดกฎหมายบ้านเมืองหรือไม่ มิฉะนั้น อาจก่อความเสียหายที่ไม่คุ้มกับค่าเช่าที่ได้รับในแต่ละเดือน สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ถ้าเป็นไปได้ในกรณีเช่าที่ดินเปล่านั้น น่าจะมีการระบุวัตถุประสงค์ในการเช่าไว้ เพื่อให้ท่านมีสิทธิ์เลิกการเช่าได้ เมื่ออีกฝ่ายสร้างความเสียหายจากการทำผิดสัญญาในข้อนี้ทันที ส่วนผู้เช่ามิควรลำพองใจที่มีสัญญาเช่าในมือ แล้วคิดว่า ทำทุกอย่างได้ เพราะกฎหมายได้กำหนดขอบเขตอันควรแก่เสรีภาพของท่านเพื่อมิให้ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นไว้เช่นกัน ขอเพียงทุกฝ่ายมีศีลธรรมในใจ มีความซื่อสัตย์ต่อกัน สังคมย่อมสงบสุขได้ ไม่ต้องมีคดีความขึ้นสู่ศาล นี่เป็นความหวังของผู้พิพากษาที่ดีทุกท่านรถหายในลานจอดรถ
เขียนโดย ลีลา LAWปัจจุบันนี้รถยนต์นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญของหลายคนไปแล้ว โดยเฉพาะในเขตเมือง เจ้าของรถมักประสบปัญหามากที่สุด คือ หาที่จอดรถไม่ได้เมื่อต้องไปทำธุระในที่ต่างๆหรือเนื้อที่บ้านพักไม่เพียงพอกับรถของท่าน ดังนั้นจึงเกิดธุรกิจใหม่มารอบรับความต้องการส่วนนี้ นั่นคือ การรับฝากรถหรือให้เช่าสถานที่จอดรถ มีทั้งประเภทชั่วคราวหรือตลอดวัน บ้างก็ทำเป็นกิจลักษณะโดยสร้างเป็นอาคารจอดรถ บ้างก็ใช้ที่วัดหรือบางส่วนของปั๊มน้ำมันเป็นสถานที่จอดรถ สิ่งที่เกิดตามมาคือ ถ้ารถยนต์ที่นำมาจอดไว้เกิดหายสาบสูญไป ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นปัญหาการสูญหายของรถยนต์ในสถานที่จอดรถทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างเจ้าของรถและเจ้าของสถานที่รับฝากรถบ่อยครั้ง ต่างฝ่ายก็ต้องการปกป้องผลประโยชน์ของตน จึงมีคดีประเภทนี้เข้าสู่กระบวนการในศาลมากพอควร จนกระทั่งได้พิพากษาคดีมอบความยุติธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย ดังกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจนี้ คือ น.ส.จิตรา นำรถยนต์ไปจอดไว้ที่ลานวัดแห่งหนึ่งซึ่ง นายพร ได้จัดไว้เป็นสถานที่จอดรถ โดยจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือน วันหนึ่งรถของเธอได้หายไปโดยนายพรไม่ยอมรับผิดชอบใดๆ อ้างว่าเป็นแค่คนจัดที่จอดรถให้เท่านั้น น.ส.จิตรา จึงนำคดีมาฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เขาประมาทเลินเล่อ มิได้ระวังดูแลรถของเธอเยี่ยงผู้ที่ทำธุรกิจรับฝากรถพึงมี ผลการตัดสินคดีเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมสำหรับกรณีนี้ คือ นายพรเบิกความยอมรับในการพิจารณาคดีว่า ได้อาศัยที่วัดเป็นสถานที่เพื่อให้คนมาฝากรถ จึงเป็นเรื่องชัดแจ้งว่า ทำธุรกิจรับฝากทรัพย์ ซึ่งเป้นไปตามกฎหมายว่าด้วยการฝากทรัพย์ที่กำหนดไว้ว่า "การฝากทรัพย์ คือ สัญญาที่ผู้ฝากส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้รับฝาก และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้" นอกจากนี้นายพรยังเรียกรับค่าบริการจากน.ส.จิตราที่นำรถมาจอดฝากเป็นรายเดือน แล้วยังมอบบัตรรับฝากให้ทุกครั้งซึ่งมีข้อความว่า "พรบริการ รับฝากรถยนต์และมอเตอร์ไ.ซด์ ขอบคุณที่ใช้บริการ (กรุณาอย่าทำบัตรหาย)" โดยมีหมายเลขกำกับไว้ด้วย พฤติกรรมเช่นนี้แสดงว่า น.ส.จิตราจะรับรถยนต์คืนได้ ต่อเมื่อคืนบัตรให้แก่นายพร ดังนั้นการที่ผู้ฟ้องคดีนำรถยนต์เข้ามาจอดไว้ มีผลเท่ากับว่า ได้ส่งมอบทรัพย์สินไว้ในอารักขาของนายพรแล้ว การที่มิได้มอบลูกกุญแจให้ไว้ด้วย หาใช่สาระสำคัญของการส่งมอบไม่ จึงถือว่า เป็นการฝากทรัพย์ที่ครบองค์ประกอบของกฎหมายแล้วเมื่อรถยนต์ของน.ส.จิตราหายไป ขณะที่อยู่ในการดูแลอารักขาของนายพร ซึ่งประกอบธุรกิจรับฝากทรัพย์ ก็ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนี้ เนื่องเพราะกฎหมายได้กำหนดระดับความระมัดระวังสำหรับผู้รับฝากทรัพย์โดยมีค่าตอบแทนไว้ ถ้ามิได้เป็นไปตามนั้น ก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อผู้ฝากทรัพย์ ข้อกฎหมายมีดังนี้ คือ "การรับฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จค่าฝาก ผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย" จากการสืบพยานทั้งมวล ศาลจึงตัดสินคดีให้นายพรต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดกับรถของลูกค้าที่สูญหายไป เพราะไม่ระมัดระวังเยี่ยงวิญญูชนจะพึงสงวนรักษาทรัพย์สินของตน และสมควรต้องใช้ฝีมือพิเศษในการระวังดูแลทรัพย์สินที่รับฝาก อันเนื่องจากเป็นอาชีพของตนอย่างเพียงพอดังนั้น ผู้ประกอบอาชีพรับฝากทรัพย์สินชนิดใดก็ตาม พึงระลึกไว้เสมอว่า จักต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า จึงควรเอาใจใส่ เพิ่มความรอบคอบ ระมัดระวัง ในการดูแล ปกป้อง ทรัพย์สินในความอารักขาของตนอย่างเต็มที่และโดยสุจริตใจ นอกจากสร้างความเชื่อใจแก่ผู้ใช้บริการ ยังมีชื่อเสียงที่ดี อีกทั้งไม่ต้องสูญเสียเงินทองโดยใช่เหตุในการชดเชยค่าเสียหายด้วย ส่วนเจ้าของรถยนต์ควรเลือกใช้บริการฝากทรัพย์สินอย่างรอบคอบ มิฉะนั้น ค่าเสียหายและค่าเสียเวลาในการฟ้องคดี อาจไม่คุ้มกับการสูญเสียรถยนต์ไปก็ได้ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำเช่นนี้ การซื้อรถยนต์คันใหม่มิใช่เรื่องเล็กเลยซิ่งรถ
เขียนโดย ลีลา LAWครอบครัวเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างคนดีและมีส่วนทำให้สังคมอยู่อย่างสงบสุขได้ หน้าที่ของบิดามารดา คือ สั่งสอนให้ลูกรู้จักแยกแยะผิด-ถูก รับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนกระทำอย่างกล้าหาญ และเฝ้าดูแลมิให้เขากระทำนอกลู่ทางก่อนจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่เพียงพอ หากบิดามารดาละเลยไป ก็อาจนำพาความเดือดร้อนมาสู่ครอบครัว บางคราวอนาคตของลูกก็จบสิ้นได้ ดังกรณีศึกษานี้คำพิพากษาฎีกาที่ 1681/2542 ครอบครัวของนายสมและนางใจมีฐานะดีพอสมควร มีลูกชายคนเดียว คือ ด.ช.สุข ซึ่งมีอายุเพียง 16 ปี ยังเป็นผู้เยาว์และอยู่ในวัยคึกคะนองเต็มที่ เขากับเพื่อนในกลุ่มเดียวกันชื่นชอบในการแข่งรถจักรยานยนต์ตามท้องถนนเพื่ออวดฝีมือตกแต่งรถหรืออวดสาว ปกติแล้วลูกชายของทั้งสองสามารถนำรถจักรยานยนต์ในบ้านไปใช้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากบิดามารดาเลย โดยกุญแจรถมี 2 ชุด ชุดหนึ่งแขวนไว้ในบ้านเพื่อให้ทุกคนสามารถหยิบไปใช้ได้ทุกเวลา ส่วนอีกชุดเก็บไว้เป็นสำรอง การนำรถคันนี้ออกไปใช้ทุกครั้งนั้น นายสมและนางใจไม่เคยซักถามหรือสนใจว่า ลูกชายเอาไปใช้ในกิจกรรมใด ต่อมาวันหนึ่งด.ช.สุขขับรถแข่งกับเพื่อนแล้วพลาดไปชนรถยนต์ที่จอดอยู่ข้างทางทำให้เสียหายอย่างมาก และลูกชายได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะจากการกระแทกพื้นอย่างแรงเมื่อรถล้มลง เมื่อมีการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายกัน นายสมไม่ยอมจ่ายเงินชดใช้ โดยอ้างว่ามิได้เป็นคนขับชน จึงไม่ต้องรับผิดชอบด้วย อีกทั้งยังขอรถจักรยานยนต์ที่ตำรวจยึดไว้คืนเพราะเสียดายที่ซื้อมาราคาแพงมาก ผู้เสียหายจึงฟ้องคดีเพื่อขอความเป็นธรรมจากศาล ผู้พิพากษาได้พิจารณาอย่างมีเหตุผลว่า พฤติการณ์ที่บิดามารดาไม่เคยสนใจต่อการนำรถไปใช้โดยไม่มีการบอกกล่าวต่อผู้ใหญ่ให้รับทราบ ย่อมแสดงว่ายินยอมอนุญาตให้ด.ช.สุขหยิบกุญแจรถไปใช้ได้ตลอดเวลาตามที่ลูกต้องการ โดยไม่คำนึงว่าผู้เยาว์จะนำไปใช้ในกิจกรรมใด ดังนั้น เมื่อเขานำรถจักรยานยนต์คันนั้นไปขับขี่แข่งขันกันในถนนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจราจรตามหลักกฎหมายและถูกจับไป ย่อมถือว่า บิดามารดารู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดต่อกฎหมายของด.ช.สุข และได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย ผู้เป็นบิดามารดาจึงต้องร่วมรับผิดกับผู้เยาว์ในการชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด กอปรกับไม่อาจเรียกร้องขอคืนรถจักรยานยนต์ราคาแพงนั้นซึ่งถูกยึดไว้เป็นของกลางในคดีคืนได้ เพราะมีส่วนรู้เห็นในความผิดด้วยกรณีดังกล่าวข้างต้นนี้ได้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยความคะนองของผู้เยาว์ซึ่งอยู่ในความดูแลของบิดามารดาตามกฎหมาย ดังนั้น จึงไม่อาจปัดความรับผิดชอบในทางแพ่งได้เนื่องเพราะกฎหมายกำหนดชัดเจนให้บิดามารดาต้องรับผิดร่วมกับผู้เยาว์ด้วย ยกเว้นจะได้พิสูจน์ว่าใช้ความระมัดระวังตามสมควรอย่างเต็มที่แล้ว หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนเป็นการทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย นอกจากบิดามารดาจะต้องร่วมชดใช้เงินทองแล้ว ลูกของท่านอาจต้องถูกลงโทษจำคุกหรือรับโทษอาญาอื่นๆ บางครั้งผู้ขับขี่อาจได้รับบาดเจ็บสาหัสจนกลายเป็นคนพิการไปได้ ซึ่งจักมีผลต่ออนาคตของผู้เยาว์อย่างมาก ฉะนั้น บิดามารดาทั้งหลายควรเอาใจใส่ต่อความเป็นอยู่ จิตใจ และกิจกรรมที่ลูกของท่านทำอยู่อย่างใกล้ชิดเพื่อเห็นแก่อนาคตของเขา การสร้างลูกให้เป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวต่อไป มันคือภาระหน้าที่อย่างหนึ่งของบิดามารดาซึ่งพึงกระทำที่สุดเชื่อง่าย ตายฟรี
เขียนโดย ลีลา LAWความประมาทเป็นบ่อเกิดแห่งการสูญเสีย เป็นคำพูดที่ได้ยินเสมอ ความเสียหายมีหลายระดับแตกต่างกันไป บ้างก็สามารถเยียวยาแก้ไขให้กลับสู่สภาพเดิมได้ บ้างก็มิอาจเรียกชีวิตคืนให้ครอบครัวได้ หลายกรณีความประมาทเกิดจากบุคคลอื่นกระทำต่อผู้เสียหาย แต่บางครั้งเกิดจากความประมาทของตนเองซึ่งมิอาจเอาผิดกับใครได้ ดังกรณีศึกษาซึ่งผ่านการตัดสินคดีจากศาลสถิตย์ยุติธรรมที่จะเป็นอุทาหรณ์เตือนใจได้ดี คือคำพิพากษาฎีกาที่ 3382/2542 โรงเรียนได้พานักเรียนกลุ่มหนึ่งไปทัศนศึกษาที่จังหวัดแห่งหนึ่ง โดยแต่ละกลุ่มจะมีพี่เลี้ยงซึ่งเป็นรุ่นพี่ในโรงเรียนเดียวกันคอยดูแลเด็กที่มีอายุน้อยกว่า เมื่อมาเที่ยวที่ริมแม่น้ำแห่งหนึ่ง รุ่นพี่ซึ่งดูแลกลุ่มของเด็กหญิงจันทร์ได้บอกกับเธอว่า ให้ว่ายข้ามแม่น้ำนี้สิ ถ้าไม่ไหว เขาจะลงไปช่วยเอง เมื่อชั่งใจชั่วครู่และด้วยความอยากลองความสามารถ กอปรกับเชื่อใจในคำพูดของรุ่นพี่จึงตกลงจะว่ายน้ำข้ามไป สิ่งที่ไม่คาดคิดได้เกิดขึ้นอันเนื่องจากกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวมาก จึงพัดพาแล้วดึงร่างเด็กสาวให้จมดิ่งลงและได้พรากดวงวิญญาณอันสดใสของเธอไป โดยที่รุ่นพี่ไม่อาจเข้าไปช่วยได้ทันกาล เขาถูกฟ้องว่ากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เด็กหญิงจันทร์ถึงแก่ความตาย แต่คดีนี้ศาลตัดสินว่า รุ่นพี่มิได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหานั้น ซึ่งเท่ากับว่าครอบครัวของเด็กหญิงจันทร์สูญเสียลูกสาวไปโดยมิได้รับการทดแทนใดๆเมื่อได้เห็นผลการตัดสินคดีนี้ตอนแรกอาจรู้สึกขัดเคืองใจและคิดว่าไม่ยุติธรรมต่อครอบครัวผู้ตายเลย หากพิจารณาเหตุผลที่ศาลชี้แจงจักเข้าใจลึกซึ้งว่า เหตุใดรุ่นพี่จึงรอดพ้นโทษในคดีนี้ไปได้ นั่นเพราะว่าแม้จะเป็นความประมาทของเขา แต่ความตายที่เกิดขึ้นมิได้เป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำโดยประมาทของรุ่นพี่คนนั้นตามความเห็นของผู้พิพากษาและจากข้อเท็จจริงของเหตุการณ์นี้ เนื่องจากคำพูดว่าจะช่วย ถ้าเด็กคนนั้นว่ายข้ามแม่น้ำนั้น ถือเป็นเพียงคำชี้แนะของรุ่นพี่เท่านั้น หาได้เป็นการบังคับเด็กหญิงจันทร์ให้ต้องว่ายน้ำไปไม่ กอปรกับเด็กสาวคนนี้มีอายุ 14 ปีเศษ ย่อมมีวุฒิภาวะพอที่จะรู้ว่าตนเองมีความสามารถจะว่ายน้ำข้ามไปได้หรือไม่ และได้เห็นกระแสน้ำในเวลานั้นอย่างชัดเจน เธอเชื่อใจรุ่นพี่และมั่นใจตัวเอง จึงตกลงใจว่ายน้ำไป เท่ากับว่าเป็นการสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยนั้นเองและการจมน้ำตายเกิดเนื่องจากกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว ความตายที่เกิดขึ้นหาได้เกิดจากการกระทำของรุ่นพี่ไม่ อีกทั้งมิใช่เป็นผลโดยตรงอันเนื่องจากคำชี้แนะของเขา ดังนั้น รุ่นพี่จึงมิได้กระทำโดยประมาทอันเป็นเหตุให้เด็กหญิงจันทร์ถึงแก่ความตาย ไม่ครบองค์ประกอบความผิดของโทษดังกล่าว แต่ผลการตัดสินคดีนี้อาจต่างออกไป ถ้าเด็กหญิงจันทร์เป็นเด็กปัญญาอ่อน หรือรุ่นพี่นั้นเปลี่ยนเป็นครูอาจารย์ของเด็กเองซึ่งอาจถือเป็นการบังคับได้กรณีศึกษานี้ทำให้เห็นว่าทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบกับการตัดสินใจของตัวเองเช่นกันเมื่อมีการสูญเสียเกิดขึ้น แม้รุ่นพี่จะไม่ต้องรับโทษ แต่ก็กลายเป็นบาปทางใจกับการมีส่วนในความตายของเด็กหญิงจันทร์อย่างแน่นอน ดังนั้นก่อนเลือกทำสิ่งใด จำต้องไตร่ตรองให้รอบคอบ แล้วคำนึงถึงผลได้เสียที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของเราด้วย มิใช่อาศัยเพียงเชื่อคำพูดของคนใดคนหนึ่งหรือไม่ยอมประมาณความสามารถของตัวเองตามความเป็นจริง นั่นย่อมนำมาซึ่งความหายนะต่อชีวิตและทรัพย์สินของตนเองอย่างน่าเสียดายยิ่งนักการฟ้องคดีในศาลด้วยตัวเอง
คดีมโนสาเร่เขียนโดย ลีลา LAW
คดีมโนสาเร่เขียนโดย ลีลา LAWปกติแล้วการดำเนินคดีทั่วไปในศาลควรให้ทนายความเป็นตัวแทนจัดการคดีแทนโจทก์หรือจำเลยเพื่อความรอบคอบในการเตรียมคดีเนื่องจากกฎหมายมีความซับซ้อนเกินกว่าที่เจ้าของคดีจะทำด้วยตัวเองซึ่งอาจทำให้คดีไม่สมบูรณ์และพ่ายแพ้ได้ แต่กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดวิธีพิจารณาคดีเล็กๆน้อยๆซึ่งไม่ยุ่งยากในการตัดสินไว้เป็นการเฉพาะ โดยลดขั้นตอนการทำคดีลง อีกทั้งยังยอมให้ผู้เสียหายฟ้องร้องคดีด้วยตัวเองและทำด้วยวาจาก็ได้ ศาลจะช่วยดำเนินขั้นตอนการพิจารณาและตัดสินคดีเอง อันทำให้คดีพิพาทเสร็จสิ้นไปอย่างเร็ว เราเรียกว่า วิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่คำว่า มโนสาเร่ ในพจนานุกรมไทยให้ความหมายว่า เบ็ดเตล็ด เล็กๆน้อยๆ กระจุกกระจิก ดังนั้น คดีมโนสาเร่ จึงหมายถึง คดีเล็กน้อย กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดหลักเกณฑ์ว่าคดีแบบไหนจึงเรียกว่าเป็นคดีมโนสาเร่ และศาลต้องดำเนินคดีให้จบสิ้นเร็วที่สุดโดยยังต้องให้ความยุติธรรมแก่คู่ความด้วยลักษณะของคดีมโนสาเร่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 189 บัญญัติว่า คดีมโนสาเร่ คือ1. คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกินสามแสนบาท หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา2. คดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสามหมื่นบาท หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาตามหลักกฎหมายข้างต้นจักเห็นว่า คดีมโนสาเร่นั้นมีลักษณะคดีที่กว้างพอควรและยังต้องเน้นจำนวนเงินที่พิพาทกันอีกด้วย ตัวอย่างคดีที่อาจอยู่ในหลักดังกล่าวได้ เช่น คดีขับไล่ผู้เช่าตามสัญญาเช่า หรือ คดีเรียกเงินคืนตามสัญญาจ้างพี่เลี้ยงเด็ก หรือ คดีผิดสัญญาซ่อมบ้าน เป็นต้นวิธีฟ้องคดีโจทก์อาจยื่นคำฟ้องเป็นหนังสือหรือมาแถลงข้อหาด้วยวาจาต่อศาลก็ได้ กฎหมายมิได้บังคับให้ต้องมีทนายความด้วย โดยศาลจะช่วยบันทึกรายการแห่งข้อหา อ่านให้ฟัง แล้วให้โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลโดยคิดเป็นจำนวนเท่ากับจำนวนค่าขึ้นศาลที่เรียกเก็บในคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งมีอัตราแน่นอนที่ราชการกำหนดไว้ ปัจจุบันนี้จะอยู่ที่เงินสองร้อยบาท หรือค่าธรรมเนียมอื่นอีกเล็กน้อย นับว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่ไม่มากเลยเขตอำนาจศาลในการฟ้องคดีโจทก์ต้องฟ้องคดีต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือ ต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ ดังนั้น หากพิพาทกับจำเลยที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนต้องยื่นฟ้องต่อศาลในเขตที่ห้างร้านนั้นตั้งอยู่ การฟ้องบุคคลต้องทำที่ศาลซึ่งจำเลยอาศัยและมีชื่อในทะเบียนบ้าน ส่วนการพิพาทเรื่องเช็ค ต้องยื่นต่อศาลที่ธนาคารซึ่งปฏิเสธการชำระหนี้ตามเช็คตั้งอยู่ ทนายความหรือเจ้าหน้าที่ของศาลใกล้บ้านจะให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับคำฟ้องของท่านได้ขั้นตอนพิจารณาคดีโดยสังเขปหลักการพิจารณาคดีประเภทนี้เน้นความรวดเร็วและยุติธรรม จึงลดขั้นตอนพิจารณาคดีลงมาก โดยกำหนดวันนัดพิจารณาให้คู่ความมาศาลเพื่อไกล่เกลี่ย ให้การ หรือสืบพยานในวันเดียวกันได้ หากโจทก์ไม่มา ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดี ส่วนจำเลยที่ละเลยไม่มาตามนัด ศาลจะพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียว แล้วพิพากษาคดีได้เลย จำเลยเลือกให้การด้วยวาจาหรือหนังสือก็ได้ ศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควรแล้วยังซักถามพยานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในคดี แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างก็ตาม โดยคู่ความไม่เสียสิทธิในการซักถามพยานด้วย อีกทั้งศาลยังเป็นผู้บันทึกคำฟ้องหรือคำให้การ อันเป็นการช่วยเหลือคนทั่วไปซึ่งฟ้องคดีเองอย่างมาก โดยเจ้าของคดีเพียงนำเสนอพยานเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีเท่านั้น กฎหมายกำหนดชัดให้ศาลต้องนั่งพิจารณาคดีติดต่อกันไปโดยไม่ต้องเลื่อนและมีอำนาจออกคำสั่งหรือคำพิพากษาด้วยวาจา จึงสามารถยุติคดีได้เร็วลักษณะคดีพิเศษที่พิจารณาแบบรวบรัดอย่างคดีมโนสาเร่นอกเหนือจากคดีมโนสาเร่ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องพิจารณาเร็วและให้ความยุติธรรมแล้ว บางคดีที่อาจมีทุนทรัพย์สูงเกินกว่าจะเป็นคดีมโนสาเร่ แต่เป็นคดีที่มีหลักฐานชัดเจนและง่ายต่อการตัดสินคดี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเรียกคดีประเภทนี้ว่า คดีสามัญไม่มีข้อยุ่งยาก โดยยอมให้นำวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่มาใช้เพื่อความรวดเร็ว จึงต้องกำหนดลักษณะคดีเป็นพิเศษไว้อย่างเคร่งครัดในมาตรา 196 บัญญัติว่า คดีสามัญซึ่งโจทก์ฟ้องเพียงขอให้ชำระเงินจำนวนแน่นอนตามตั๋วเงินซึ่งการรับรองหรือการชำระเงินตามตั๋วเงินนั้นได้ถูกปฏิเสธ หรือตามสัญญาเป็นหนังสือซึ่งปรากฏในเบื้องต้นว่าเป็นสัญญาอันแท้จริงมีความสมบูรณ์และบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์จะยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องขอให้ศาลพิจารณาคดีนั้นโดยรวบรัดก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก ไม่ว่าโจทก์จะได้ยื่นคำขอไว้หรือไม่ ให้ศาลมีคำสั่งให้นำวิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่มาใช้ได้ องค์ประกอบของคดีประเภทนี้ต้องเป็นการฟ้องให้ชำระเงินตามตั๋วเงินชนิดต่างๆหรือตามสัญญาที่สมบูรณ์ เช่น สัญญากู้เงินต้องสมบูรณ์และใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่ลูกหนี้เบี้ยวไม่จ่ายคืน เป็นต้น ตัวอย่างคดีที่อาจใช้หลักนี้ได้ เช่น คดีฟ้องเรียกเงินตามเช็คที่มีมูลหนี้สมบูรณ์ คดีหนี้บัตรเครดิต หรือ คดีผิดสัญญาเช่าซื้อหรือสัญญากู้เงิน เป็นต้น ทั้งนี้ ศาลสามารถพิจารณาได้เองว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยากหรือไม่ โดยไม่จำต้องมีฝ่ายใดร้องขอก่อนก็ได้สิ่งควรรู้เบื้องต้นก่อนการฟ้องคดีประเภทนี้ คือ ท่านต้องศึกษาเงื่อนไขของคดี ตรวจสอบหลักฐานให้ครบถ้วน และมีเวลามากพอในการไปตามนัดพิจารณาของศาลทุกครั้ง ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ศาลพิจารณาคดีได้รวดเร็ว ดังนั้น การเตรียมคดีจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด การดำเนินคดีมโนสาเร่หรือคดีสามัญไม่มีข้อยุ่งยากนั้นจะฟ้องโดยโจทก์เจ้าของคดีเองหรือทำโดยทนายความก็ได้ ท่านต้องพิจารณาก่อนว่า มีความมั่นใจหรือพร้อมจะดำเนินคดีในศาลด้วยตัวเองหรือไม่ มิฉะนั้น ควรมอบให้ทนายความจัดการแทนเพื่อความสมบูรณ์ของคดี ทั้งนี้พึงมั่นใจได้ว่า ศาลมีความพร้อมทำการพิจารณาคดีโดยรวดเร็วและจะมอบความยุติธรรมให้ทุกคนที่มาศาลด้วยจิตใจสุจริตเสมอตกงานเพราะลาหยุด
เขียนโดย ลีลา LAWสิทธิที่ลูกจ้างคุ้นเคยดี คือ การลาหยุด ซึ่งกฎหมายแรงงานอนุญาตให้มีการลาป่วยหรือลากิจได้ แต่หลายท่านอาจไม่ทราบหรือละเลยต่อข้อบังคับในการทำงานของนายจ้างซึ่งมักกำหนดวิธีการลาไว้ด้วย เช่น การลากิจต้องได้รับอนุญาตจากนายจ้างก่อน เป็นต้น เมื่อละเว้นหรือชะล่าใจ บางท่านจึงถูกไล่ออกด้วยความสงสัยว่า นายจ้างมีสิทธิทำได้หรือ?กรณีศึกษาต่อไปนี้จักเป็นเรื่องเตือนใจลูกจ้างทั้งหลายมิให้ประมาทและสุขสบายใจกับการลาหยุดมากนัก เพราะมีลูกจ้างบางคนถูกเลิกจ้างด้วยเหตุการลาหยุดโดยมิได้รับอนุญาตจากนายจ้างและยังไม่ได้ค่าชดเชยอีกด้วย ดังใน คำพิพากษาฎีกาที่ 2610/2540 นายกรรณ เป็นลูกจ้างของ บริษัทเลิศสิทธิ์ ยื่นใบลาขอหยุดงานในวันที่ 9 – 11 ตุลาคม 2543 เพื่อทำธุระส่วนตัว แต่นายจ้างไม่อนุญาตเพราะตามข้อบังคับการทำงานของบริษัทกำหนดให้การลาหยุดต้องได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อน ดังนั้น นายกรรณจึงต้องมาทำงานในวันและเวลาดังกล่าว เมื่อถึงวันนั้นนายกรรณไม่ยอมมาทำงานโดยเดินทางไปกัมพูชาเพื่อหาช่องทางทำธุรกิจของเขาซึ่งเป็นเหตุส่วนตัว นายจ้างจึงบอกเลิกจ้างและไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย จึงกลายเป็นข้อพิพาทกัน ศาลได้ตัดสินว่า การกระทำของนายกรรณเป็นการละทิ้งหน้าที่สามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (5) ซึ่งบัญญัติว่า นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีต่อไปนี้... 5. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันควร บริษัทเลิศสิทธิ์จึงเลิกจ้างนายกรรณ ผู้เป็นลูกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยคำตัดสินของศาลในกรณีศึกษาข้างต้น ถือเป็นอุทาหรณ์เตือนใจลูกจ้างมิให้ประมาทในการหยุดทำงาน โดยควรอ่านข้อบังคับการทำงานของบริษัทให้ละเอียดเสียก่อน เนื่องจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 34 กำหนดว่า ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน มิฉะนั้น ท่านอาจตกงานโดยไม่คาดคิดและมิได้รับค่าชดเชยใดๆซึ่งจักสร้างความเดือดร้อนแก่ตัวเองและครอบครัวอย่างมากรู้จัเมื่อเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้ ?เขียนโดย ลีลา LAW“เมื่อเป็นหนี้ ก็ต้องชดใช้” ปกติเจ้าหนี้ทุกคนย่อมพอใจมาก ถ้ามีลูกหนี้นำเงินมาใช้หนี้คืนทั้งหมด ด้านลูกหนี้นั้นส่วนใหญ่คงไม่อยากคืนเงินนัก แต่กฎหมายบังคับให้ต้องชดใช้ มิฉะนั้นจะถูกฟ้องคดีเป็นเหตุให้เสียชื่อเสียง จึงจำใจต้องชำระหนี้ บางกรณีลูกหนี้มีใจสุจริต แต่เจ้าหนี้กลับบ่ายเบี่ยงไม่อยากรับชำระหนี้ด้วยสาเหตุซ่อนเร้นบางอย่างไว้หลายท่านอาจเคยประสบกับตัวเองหรือได้รับคำบอกเล่ามาว่า กู้ยืมเงินด้วยการจำนองที่ดินหรือบ้านหลังงามไว้ ตอนนำเงินไปไถ่ถอน เจ้าหนี้ไม่ยอมรับเงินแล้วพยายามเลี่ยงการพบลูกหนี้ทุกวิถีทาง จนกระทั่งล่วงเลยเวลาตามสัญญาทำให้ท่านต้องสูญเสียทรัพย์สินนั้น บางกรณีผู้ให้เช่ากับบุคคลภายนอกเป็นคดีความในศาลกันอยู่อันสร้างความสับสนว่า ค่าเช่าควรจ่ายแก่ฝ่ายใด ถ้าผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่าในเดือนใด ถือเป็นการผิดสัญญาเช่าทันทีเป็นเหตุให้ถูกไล่ออกจากสถานที่เช่า เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้สร้างความหนักใจแก่ลูกหนี้ตามสัญญาเหล่านั้นมากยิ่ง อันที่จริงกฎหมายได้กำหนดวิธีแก้ไขไว้แล้วเพื่อคลายความทุกข์แก่เหล่าลูกหนี้ผู้สุจริตทั้งหลายตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดให้มีสำนักงานวางทรัพย์ในสังกัดของกรมบังคับคดีเพื่อทำหน้าที่รับชำระหนี้เสมือนเป็นตัวแทนเจ้าหนี้ ยามที่เกิดปัญหาไม่อาจรับชำระหนี้ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม โดยกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะรับชำระหนี้แทนไว้ตามมาตรา 331 ดังนี้คือ1. กรณีเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้2. กรณีเจ้าหนี้ไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้3. กรณีลูกหนี้ไม่อาจรู้ได้ว่า ใครเป็นเจ้าหนี้แท้จริง โดยมิใช่ความผิดของตนถ้าเจ้าหนี้มีพฤติกรรมผิดปกติดังกล่าวข้างต้น ลูกหนี้ผู้สุจริตทั้งหลายอาจเลือกชำระหนี้ด้วยวิธีนี้ก็ได้ โดยต้องทำภายในกำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาเท่านั้น เมื่อท่านวางเงินตามจำนวนหนี้ทั้งหมดไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์ กฎหมายถือว่าท่านหลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวแล้วตามวันที่ซึ่งท่านชำระหนี้นั้น หากก่อนเจ้าหนี้มารับเงินจำนวนนั้น ท่านได้ถอนเงินออกไป กฎหมายจักถือว่า มิได้มีการวางทรัพย์ไว้เลย หนี้ยังคงมีอยู่เช่นเดิมสิทธิถอนทรัพย์ของลูกหนี้เป็นอันหมดไปตามกฎหมายมาตรา 334 วรรค 2 กำหนดไว้ เมื่อ1. ลูกหนี้แสดงเจตนาว่า ยอมสละสิทธิที่จะถอน2. เจ้าหนี้มารับเอาทรัพย์นั้นไป3. การวางทรัพย์เป็นไปโดยคำสั่งหรืออนุมัติของศาลและได้บอกกล่าวความนั้นแก่สำนักงานวางทรัพย์หลังจากวางเงินเพื่อชำระหนี้ไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์แล้ว ลูกหนี้จำต้องแจ้งให้เจ้าหนี้ทราบถึงวิธีการชำระหนี้กรณีนี้โดยพลัน ส่วนค่าธรรมเนียมต่างๆในการวางทรัพย์นั้น กฎหมายกำหนดให้เจ้าหนี้รับผิดชอบไปฝ่ายเดียว ยกเว้นกรณีที่ลูกหนี้ได้ถอนทรัพย์ที่วางเท่านั้น นั่นเท่ากับว่า การวางทรัพย์เพื่อชำระหนี้ของฝ่ายลูกหนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆเลย หากเจ้าหนี้ไม่ยอมมารับเงินของลูกหนี้ภายใน 10 ปี นับแต่ได้รับคำบอกกล่าวการวางทรัพย์โดยลูกหนี้หรือโดยสำนักงานวางทรัพย์แล้วแต่กรณี ทำให้สิทธิของเจ้าหนี้ในการรับทรัพย์ดังกล่าวระงับสิ้นไป ลูกหนี้สามารถถอนทรัพย์กลับคืนไปได้โดยไม่มีภาระหนี้ต่อกันอีกดังนั้น เมื่อลูกหนี้ผู้สุจริตได้วางเงินชำระหนี้ ณ สำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามสัญญาแล้ว ย่อมไม่สูญเสียทรัพย์สินของท่านซึ่งเอาเป็นประกันหนี้ไว้ เหล่าเจ้าหนี้ผู้มีจิตทุจริตคิดฮุบที่ดินหรือบ้านหลังงามของท่านไม่อาจได้สมดังใจหมายแน่นอน ส่วนผู้เช่ายังคงอยู่ในสถานที่เช่าได้เช่นเดิม สิ่งที่พึงระวังให้มากที่สุด คือ ระยะเวลาชำระหนี้ในสัญญา ส่วนสถานที่ชำระหนี้ กฎหมายได้ช่วยคลี่คลายปัญหาของลูกหนี้แล้ว ดังคำพูดที่ว่า กฎหมายคุ้มครองผู้สุจริตใจเสมอ
ทะเบียนสมรส
เขียนโดย ลีลาLAWสถาบันครอบครัวมีความสำคัญในการสร้างคนดีหรือคนเลวไปสร้างสรรค์หรือทำลายสังคมก็ได้ ดังนั้น รัฐจึงตั้งใจดูแลการสร้างครอบครัวในเบื้องต้นโดยคำนึงถึงความมั่นคงเป็นหลัก โดยกำหนดขอบเขตให้มีความยืดหยุ่นและความยุติธรรมแก่สมาชิกครอบครัวไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ทราบว่ากฎหมายไทยรับรองและคุ้มครองครอบครัวแบบใดอายุของคู่สมรสประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 กำหนดว่า การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีแล้ว แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนก็ได้ หลักการนี้ต้องการให้ผู้สร้างครอบครัวมีวุฒิภาวะพอในการดูแลครอบครัวได้ แต่มิได้เป็นกฎตายตัวโดยบิดามารดาของผู้เยาว์ต้องให้ความยินยอมหรือร้องต่อศาลเพื่อให้ความยินยอมก็ได้วิธีรับรองการสมรสพิธีสมรสตามธรรมเนียมไทยหรือศาสนาใดก็ตามย่อมมีความหลากหลายกันได้ และจัดใหญ่โตเพียงใดก็ได้ กฎหมายจักยอมรับว่าการสมรสนั้นถูกต้องต่อเมื่อชายหญิงต้องจดทะเบียนสมรสกันด้วยความยินยอม โดยกำหนดชัดไว้ใน มาตรา 1457 ว่า การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น ส่วนความยินยอมและเต็มใจในการสมรสกันมีอยู่ใน มาตรา 1458 ว่า การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภรรยากัน และต้องแสดงการยินยอมนั้น ให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมไว้ด้วย การสมรสอันเกิดจากการข่มขู่ ย่อมเป็นโมฆะและถือว่าไม่มีการสมรสมาแต่ต้น หลักการทั้งสองนี้มุ่งหมายให้สร้างครอบครัวด้วยหัวใจผูกพันกันและแจ้งต่อรัฐให้คุ้มครองสิทธิของชายหญิงไว้ ดังนั้น จักเห็นได้ว่า แม้จัดงานใหญ่โตหรืองานเล็ก หากไม่ยอมจดทะเบียนสมรสตามหลักกฎหมายแล้ว ชายและหญิงจักไม่ได้รับความคุ้มครองในฐานะเป็นครอบครัวที่ถูกต้องเลยข้อเสียของการไม่มีทะเบียนสมรส1. ตามหลักกฎหมายนั้นการมีเพศสัมพันธ์ต่อกัน มิถือว่าครบองค์ประกอบของการเป็นสามีภรรยาที่รัฐต้องรับรองและคุ้มครองไว้ จึงมีสภาพคล้ายกับชายที่ใช้บริการของโสเภณีเท่านั้น2. สิทธิต่างๆที่กฎหมายมอบแก่สามีภรรยาที่มีทะเบียนสมรส จักไม่อาจเรียกร้องได้เลย3. ความรักเป็นอารมณ์ที่อาจเปลี่ยนแปรได้ตามกาลเวลาและจิตสำนึกของคน แต่ทะเบียนสมรสจักเปลี่ยนได้เมื่อกระทำตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น จึงมีความมั่นคงที่สุด4. การทำตนเป็นชายชู้หรือหญิงนอกสมรสนั้น อาจต้องจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้เสียหายเพราะพฤติกรรมของตนได้5. เด็กที่เกิดจากชายหญิงที่ไม่มีทะเบียนสมรสนั้น ชายไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู และกฎหมายถือว่าเป็นลูกของหญิงเท่านั้น นอกจากมีการรับรองบุตรเป็นการเฉพาะเท่านั้น6. ชายชู้หรือหญิงนอกสมรส ไม่มีสถานะเป็นทายาทโดยธรรมในการรับมรดกข้อดีของการมีทะเบียนสมรส1. สังคมทั่วโลกต่างยกย่องและให้เกียรติแก่สามีหรือภรรยาที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยจักต้องมีทะเบียนสมรสเท่านั้น2. เมื่อทำตามกฎหมายย่อมได้รับการคุ้มครองต่างๆจากรัฐ เช่น- ทรัพย์สินที่หามาได้ระหว่างสมรส แม้ว่าอีกฝ่ายอาจไม่ได้ทำงานเลย ทั้งคู่ย่อมมีสิทธิคนละครึ่งหนึ่ง โดยกฎหมายมองว่า ถ้าแม่บ้านดูแลบ้านไม่ดี สามีคงไม่อาจหารายได้อย่างเต็มที่และสร้างทรัพย์สินต่างๆขึ้นมาใหม่ได้ จึงถือเป็นการช่วยเหลือกันทางอ้อม- กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีชายชู้หรือหญิงนอกสมรส กฎหมายต้องการส่งเสริมครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว จึงกำหนดคุ้มครองสามีหรือภรรยามีทะเบียนไว้ให้มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากผู้ละเมิดสิทธิของตนได้ ตามมาตรา 1523 วรรค 2 ว่า สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้ หลักการนี้กำหนดให้เรียกร้องค่าเสียหายจากชายชู้หรือหญิงนอกสมรสที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้มีทะเบียนสมรสได้- ลูกที่เกิดจากชายหญิงที่จดทะเบียนสมรส จักได้รับการอุปการะเลี้ยงดูตามสมควรอันถือเป็นหน้าที่ของบิดาและมารดาซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน- การทำนิติกรรมผูกพันทรัพย์สินต่างๆ ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายเสมอ ทำให้รับรู้ความเสียหายล่วงหน้าหรือตักเตือนกันก่อนได้- การรับมรดกนั้น กฎหมายกำหนดชัดให้คู่สมรสมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิในทรัพย์สินของผู้ตายด้วย- หากต้องยุติชีวิตสมรส ผู้มีทะเบียนสมรสจักได้รับค่าเลี้ยงชีพจนกว่าจะมีคู่สมรสใหม่ และค่าเลี้ยงดูบุตร กรณีที่ต้องรับภาระหน้าที่ดูแลบุตรเอง อีกทั้งสินสมรสต้องแบ่งครึ่งหนึ่งด้วย ย่อมทำให้ชีวิตไม่ลำบากมากเกินเหตุความสิ้นสุดแห่งการสมรสตามมาตรา 1501 กำหนดว่า การสมรสย่อมสิ้นสุดด้วยความตาย การหย่า หรือ ศาลพิพากษาให้เพิกถอน หลักการนี้เปิดกว้างให้คู่สมรสพิจารณาร่วมกันในการยุติความเป็นครอบครัวได้ สำหรับกรณีผู้มีทะเบียนสมรสนั้นอาจเลือกได้สองวิธี คือ การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล หรือ การหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ต้องมีองค์ประกอบตามกฎหมายกำหนดไว้ในเหตุหย่าและต้องมิใช่เป็นผู้ก่อเหตุหย่าขึ้นเอง จึงฟ้องศาลได้ ซึ่งจะใช้เวลาพิจารณาคดีค่อนข้างนานการหย่าด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย สำหรับผู้มีทะเบียนสมรสนั้น ต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน โดยไปกระทำที่สำนักงานเขตใดก็ได้ นับว่าทำง่ายกว่าหลายประเทศซึ่งมีกระบวนการหลายขั้นตอนกว่าการหย่าจะเสร็จสมบูรณ์ได้ บางประเทศใช้เวลาหลายปีทีเดียว สำหรับประเทศไทยสามารถหย่าเสร็จได้ในวันเดียวเท่านั้นความรักเป็นปฐมบทของการสร้างครอบครัวให้มั่นคง แต่ต้องไม่ลืมในการปฏิบัติตามกฎของสังคมซึ่งคือ กฎหมาย เช่นกัน ผู้ทำละเมิดสิทธิซึ่งกฎหมายให้ความรับรองและคุ้มครองไว้ จักต้องได้รับโทษและการดูแคลนจากคนในสังคม ดังนั้น ทะเบียนสมรสทำให้สามีภรรยาแตกต่างและมีคุณค่าชัดเจนจากชายหญิงที่ให้บริการทางเพศทั่วไป หลายครั้งที่เราจักได้ยินเรื่องชายชู้หรือหญิงนอกสมรสพยายามเปลี่ยนฐานะตัวเองมาถือทะเบียนสมรสให้ได้ เนื่องจากตระหนักดีในเกียรติทางสังคมที่ต่ำต้อยและถูกดูแคลนจากคนทั้งหลายในไทยและในโลกสากล ทะเบียนสมรสต้องมีเพียงฉบับเดียวสำหรับชายหญิงคู่หนึ่งเท่านั้น กฎหมายกำหนดคุณค่าของมันไว้มาก เหตุไฉนหญิงจึงมองไม่เห็นความสำคัญของมันเทียบเท่าความรักที่พึงมอบให้ชาย และ ชายจึงไม่มอบเกียรติบัตรใบนี้แก่ผู้ที่เลือกมาเป็นภรรยาและมารดาของบุตร สังคมจักมีความสงบเมื่อทุกคนต่างเคารพในกติกาที่กฎหมายกำหนดไว้การทำร้ายคู่สมรสหลายท่านมีความเข้าใจว่า คู่สมรสทำร้ายร่างกายกันเองได้ ไม่ต้องรับโทษอาญาใดๆ แม้แต่ตำรวจบางท่านยังคิดเช่นนั้น ถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก ก่อนอื่นต้องทราบว่า การทำร้าย คือ พฤติกรรมใช้กำลังทุกรูปแบบเพื่อให้อีกฝ่ายได้รับบาดเจ็บทางกายหรือจิตใจ จะใช้อาวุธร่วมด้วยหรือไม่ก็ตามประมวลกฎหมายอาญากำหนดโทษของคดีทำร้ายร่างกายไว้หลายระดับตามความหนักเบาของบาดแผลที่เกิดขึ้น เป็นการกระทำต่อบุคคลเฉพาะที่กำหนดไว้ หรือมีพฤติกรรมพิเศษ ดังนี้มาตรา 390 ผู้ใดกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับมาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับมาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับมาตรา 296 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ถ้าได้กระทำต่อบุคคลเฉพาะเจาะจง เช่น บุพการี เจ้าพนักงาน เป็นต้น หรือพฤติการณ์พิเศษ เช่น การวางแผนล่วงหน้า กระทำทารุณกรรม เป็นต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับมาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี โดยกำหนดลักษณะบาดแผลซึ่งถือเป็นอันตรายสาหัสไว้ เช่น ตาบอด ใบหน้าเสียโฉมอย่างติดตัว แท้งลูก ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาหรือทำงานไม่ได้เกินกว่า 20 วัน เป็นต้นมาตรา 298 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 297 ถ้าความผิดนั้นกระทำต่อบุคคลที่กำหนดเฉพาะเจาะจงหรือพฤติกรรมพิเศษตามที่ระบุไว้ในมาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปีมาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามหลักกฎหมายเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายข้างต้นนั้น จักเห็นว่า มันใช้ลงโทษ ผู้ใด ที่ทำร้าย ผู้อื่น ซึ่งมีผลในการคุ้มครองผู้เสียหายและลงโทษผู้ใช้กำลังทำร้ายโดยไม่จำกัดเพศ สถานภาพทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของสามีภรรยา ครูอาจารย์ บิดามารดา ล้วนอาจถูกลงโทษตามหลักนี้ได้สำหรับคดีอาญานั้น ผู้กระทำจักต้องรับโทษอาญาเป็นการเฉพาะตัวและต้องตีความข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองและให้ความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายด้วย ดังนั้น ความเข้าใจผิดเรื่องสามีภรรยาสามารถตบตีทำร้ายกันได้ ครูอาจารย์โบยตีลูกศิษย์ บิดามารดาฟาดตีเด็กในปกครอง จึงเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ผู้กระทำต้องรับโทษอาญา ไม่ว่าจะเป็นจำคุก ปรับ แล้วแต่ดุลพินิจของศาล อีกอย่างหนึ่งซึ่งพึงเตือนใจก่อนใช้กำลังทำร้ายคนอื่นด้วยว่า หญิงซึ่งเป็นภรรยาก็ไม่มีอภิสิทธิ์ในการทำร้ายร่างกายของสามีด้วย ส่วนเด็กที่ทำร้ายพ่อแม่ปู่ย่าตายายซึ่งถือเป็นบุพการี จักต้องรับโทษหนักพิเศษ เพราะสังคมไม่ส่งเสริมพฤติกรรมเช่นนี้และไม่ต้องการให้ใครถือเป็นเยี่ยงอย่างด้วยหลังจากอ่านทำความเข้าใจข้อกฎหมายเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายอย่างถูกต้องแล้ว จึงหวังว่า ทุกท่านคงรู้จักสิทธิในร่างกายและต้องรู้จักปกป้องสิทธินี้ไว้มิให้ผู้ใดทำละเมิดได้ สามีภรรยาเป็นบุคคลเดียวกันตามหลักกฎหมายภาษี แต่ต้องรับโทษแยกกันตามหลักกฎหมายอาญา ดังนั้น พฤติกรรมการทำร้ายกันของสามีภรรยา บิดามารดากับบุตร ครูอาจารย์กับศิษย์ เช่น การตบตี การราดน้ำกรด การทุบตีด้วยท่อนไม้ การจี้บุหรี่ การกัดข่วน การทำทารุณกรรมทุกรูปแบบ เป็นต้น ผู้กระทำจักต้องรับโทษอาญาตามลักษณะบาดแผล อีกปัญหาหนึ่งซึ่งหลายท่านอาจสงสัย คือ ถ้าเห็นสามีภรรยาตบตีกันสามารถช่วยเหลือได้ไหม? ตัวอย่างที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น กรณีมิจฉาชีพแกล้งตะโกนว่ากำลังตีเมียอยู่ ทั้งที่ตั้งใจฉกชิงทรัพย์ ทำให้คนทั่วไปชะงักความช่วยเหลือไว้ อันเป็นเหตุให้ผู้เสียหายต้องสูญเสียทรัพย์และได้รับบาดเจ็บหนัก คำตอบ คือ ตามหลักมนุษยธรรมและน้ำใจอันดี คนดีสมควรช่วยเหลือผู้เสียหายที่กำลังเดือดร้อน ส่วนหลักกฎหมายอาญานั้น สามีหรือภรรยาไม่มีสิทธิทำร้ายร่างกายกัน ทุกคนจึงมีสิทธิหยุดยั้งการทำละเมิดกฎหมายนี้ได้ นอกเหนือจากการแจ้งความกับตำรวจ บางกรณีการทำร้ายอาจล่วงเลยไปถึงการฆ่ากัน ซึ่งบรรดาคนดูทั่วไปกลับยืนเฉย ไม่ยื่นมือช่วยเหลือบรรเทาเหตุร้ายเบื้องหน้า พวกเขาอาจต้องรับโทษอาญาไปด้วย ตาม มาตรา 374 ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่น แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มันเป็นหลักกฎหมายที่รัฐต้องการให้คนช่วยบรรเทาความเสียหายเบื้องต้นก่อนเจ้าหน้าที่รัฐจะมาถึงที่เกิดเหตุและส่งเสริมให้มีน้ำใจเมตตาต่อกัน ดังนั้น สังคมจักสงบสุขได้ เมื่อทุกคนต่างช่วยดูแลกัน เพียงแค่ท่านยื่นมือช่วยเหลือผู้ถูกทำร้าย เท่ากับเป็นการให้โอกาสแก่หนึ่งชีวิตเพื่อทำประโยชน์แก่ครอบครัวและประเทศชาติ แล้วยังเป็นการทำบุญตามหลักพุทธศาสนาอีกด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

ค้นหาโดย google