หมวดที่ 1 คณะกรรมการกีฬามวย

หมวดที่ 1
คณะกรรมการกีฬามวย
--------------------

มาตรา 5 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการกีฬามวย" ประกอบด้วยรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ผู้แทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม นายกสมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินเจ็ดคน และให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวยเป็นกรรมการและเลขานุการ ให้นายกรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของประธานกรรมการและกรรมการโดยตำแหน่งตามวรรคหนึ่งแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวิฒิจากผู้ซึ่งมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับกีฬามวย ในจำนวนนี้ให้แต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีภูมิลำเนาในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศอย่างน้อยสี่คน

มาตรา 6 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือในกรณีมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้วเมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้น จากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ ทั้งนี้ ไม่เกินสองสาระติดต่อกัน

มาตรา 7 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 6 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
  1. ตาย
  2. ลาออก
  3. นายกรัฐมนตรีให้พ้นจากตำแหน่งตามคำแนะนำของประธานกรรมการและกรรมการซึ่งมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด
  4. เป็นบุคคลล้มละลาย
  5. เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
  6. ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาณหรือความผิดลหุโทษ


มาตรา 8 การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธาน ในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา 9 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
  1. ส่งเสริม สนับสนุน อนุรักษ์ และเผยแพร่กีฬามวย
  2. วางแผนและกำหนดมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับกีฬามวย เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยและสวัสดิภาพของนักมาย
  3. พิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่และจรรยาบรรณของบุคคลในวงการกีฬามวย
  4. พิจารณาวินิจฉัยอุทรธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้
  5. ออกข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศเพื่อปฏิบัตการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ ตลอดจนออกข้อบังคับว่าด้วยการประชุมและการดำเนินงานของคณะกรรมการ
  6. ปฏิบัติการอื่นตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฏหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
  7. ปฏิบัติการอื่นตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการกีฬาแห่งประเทศไทย


มาตรา 10 ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งภายในขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ให้นำมาตรา 8 มาใช้บังคับแก่การประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม

มาตรา 11 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 9 และมาตรา 10 คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการมีอำนาจเรียกบุคคลในวงการ กีฬามวยมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำ หรือความเห็นหรือให้บุคคลดังกล่าวส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อ ประกอบการพิจารณาได้ตามที่เห็นสมควร

ไม่มีความคิดเห็น:

ค้นหาโดย google